วันจันทร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

การบำบัดโรคจมูกและไซนัสด้วยวิธีสูดไอนำร้อน



การบำบัดโรคจมูกและไซนัสด้วยวิธีสูดไอน้ำร้อน(Steam Inhalation for Sinonasal Diseases)
หอผู้ป่วยหู คอ จมูก โรงพยาบาลสกลนคร
ที่มา: รศ. นพ. พีรพันธ์ เจริญชาศรีผศ . นพ . ปารยะ อาศนะเสน

การสูดไอน้ำร้อนเป็นวิธีการที่แพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทย หรือการแพทย์ทางเลือก แนะนำให้ผู้ป่วยทำเป็นประจำ เพื่อให้จมูกโล่ง หายใจได้สะดวกขึ้น รักษาอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล อาการปวดตื้อๆ ที่ศีรษะซึ่งเกิดจากการไหลเวียนของอากาศในไซนัสที่ไม่ดีจากเยื่อบุจมูกที่บวมไปอุดกั้นรูเปิดของไซนัสในโพรงจมูก และทำ ให้การพ่นยาชนิดต่างๆเข้าไปในจมูก มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอก
จากนั้นยังทำ ให้ทางเดินหายใจส่วนล่างโล่งขึ้น ช่วยลดอาการของโรคหืดด้วย
การสูดไอน้ำร้อนนั้น อาจจะใช้น้ำเดือดธรรมดา หรืออาจมีการผสมยาหรือน้ำมันหอมระเหย หรือสมุนไพรบางอย่างลงไปด้วย เชื่อว่าเป็นการทำให้ประสิทธิภาพของการรักษาดีขึ้น แพทย์รุ่นเก่าๆ มักจะแนะนำให้หยดทิงเจอร์เบนซอยด์ (Benzyl Benzoate) ลงไปในน้ำร้อนให้ผู้ป่วยโรคจมูกและไซนัสสูดหายใจ โดยให้ผู้ป่วยทำเองที่บ้าน เป็นการรักษาเสริมสำหรับโรคจมูกและไซนัสอักเสบทั้งเฉียบพลันและเรื้อรัง
กลไกการออกฤทธิ์ของการสูดไอน้ำร้อน
จากการศึกษาผลของอุณหภูมิของสิ่งแวดล้อมต่อเยื่อบุจมูกของคน พบว่าถ้าอุณหภูมิภายในโพรงจมูกสูงขึ้นจาก การสูดอากาศที่อุ่นและชื้น จะทำให้โพรงจมูกโล่งขึ้น และอาการของโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ลดลง โดยเฉพาะอาการคัดจมูก และในทางกลับกัน ถ้าหายใจเอาอากาศเย็นเข้าไปจะทำให้คัดจมูกมากขึ้น
ตามทฤษฎีการสูดไอน้ำร้อน จะช่วยเพิ่มของเหลวให้ชั้นผิวของเยื่อบุ จมูก ทำให้ผิวของเยื่อบุจมูกคงตัว ลดการหลั่งของน้ำมูก และความร้อนจะขัดขวางการทำปฏิกิริยาระหว่างสารก่อภูมิแพ้และเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับปฏิกิริยา อักเสบจากภูมิแพ้ มีการศึกษาที่สนับสนุนว่าการสูดไอน้ำร้อนมีประสิทธิภาพในการป้องกันอาการคัดจมูก ช่วยยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัส และกระตุ้นให้มีสารที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัส เพิ่มขึ้น
ปกติเยื่อบุจมูกมีหน้าที่ปรับอากาศที่หายใจเข้าให้มีอุณหภูมิและความชื้นเหมาะสมสำหรับหลอดลมและปอด ดังนั้นถ้าหายใจในสิ่งแวดล้อมที่เย็นจัด เยื่อบุจมูกจะทำหน้าที่ปรับอากาศให้อุ่นและชื้นขึ้น โดยอาศัยกลไกของระบบหลอดเลือดที่อยู่ในเยื่อบุจมูก โดยหลอดเลือดเหล่านี้จะขยายตัว ทำให้มีเลือดมาคั่งอยู่ในเยื่อบุจมูก และนำเอาความร้อนเท่ากับอุณหภูมิของร่างกายและความชื้นมาด้วย ทำให้อากาศที่หายใจเข้าผ่านช่องจมูกได้รับความร้อนและความชื้นทำให้อากาศอุ่นและชื้นขึ้น ผลที่ตามมาคือ หลอดเลือดที่ขยายตัวนี้ จะทำให้เยื่อบุจมูกพองหรือบวมขึ้น ทำให้เกิดอาการคัดจมูกมากขึ้นในบางคน โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคจมูกอยู่แล้ว ในทางกลับกันถ้าให้ผู้ป่วยสูดหายใจเอาไอน้ำร้อนเข้าไป เยื่อบุจมูกจะทำหน้าที่ปรับอากาศเหล่านี้โดยระบบหลอดเลือดในเยื่อบุจมูกจะหดตัวลง ทำให้เยื่อบุจมูกหดตัวยุบบวมลงด้วย ผู้ป่วยจะรู้สึกหายใจโล่งขึ้น นอกจากนี้ไอน้ำที่กลั่นตัวในทางเดินหายใจจะทำให้เยื่อบุจมูก และลำคอชุ่มชื้นขึ้น และน้ำมูกเสมหะที่เหนียวข้นจะถูกขับออกมาง่ายขึ้นด้วย
ดังนั้นการสูดไอน้ำร้อน จึงใช้รักษาอาการคัดจมูกที่เกิดจากเชื้อไวรัส , ไข้หวัด , โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้และชนิดไม่แพ้ โรคไซนัสอักเสบ และผู้ป่วยหลังผ่าตัดไซนัส ส่วนการเติมสมุนไพรในน้ำที่ต้มเดือดเพื่อสูดไอน้ำร้อน เพื่อบำบัดรักษาอาการของโรคจมูกและไซนัสนั้น มักจะเลือกใช้สมุนไพรที่ออกฤทธิ์ในระบบทางเดินหายใจ หรือมีที่ใช้สำหรับรักษาอาการของทางเดินหายใจ
ขั้นตอนของการ สูดไอน้ำร้อน
1. ต้มน้ำประปาในหม้อต้มให้เดือด และเตรียมภาชนะปากกว้าง เช่น ชามหรืออ่างที่ทำด้วยวัสดุทนความร้อน สำหรับใส่น้ำเดือดไว้สูดไอน้ำร้อน
2. เทน้ำเดือดจากหม้อต้ม ใส่ภาชนะที่เตรียมไว้ ในกรณีที่แพทย์ไม่ได้สั่งยาเพื่อให้เติมลงไปในน้ำเดือด สามารถเริ่มสูดไอน้ำร้อน ได้เลย (ดูข้อ 3) ในกรณีที่แพทย์สั่งยาเพื่อให้เติมลงไปในน้ำเดือด ควรเริ่มเติมยาลงไปขนาดน้อยๆ ก่อน เช่น ประมาณครึ่งฝาขวดยา หรือครึ่งช้อนชา ถ้ากลิ่นไม่ฉุนเกินไป หรือผู้ป่วยทนได้ อาจเพิ่มขนาดได้ในครั้งต่อไป หรือจะใช้ในขนาดที่พอใจก็ได้ หลังจากนั้นคนให้ยาผสมเข้ากับน้ำเดือดให้ดี
3. ยื่นหน้าไปอังอยู่เหนือน้ำเดือด ซึ่งอยู่ในภาชนะที่เตรียมไว้ สูดหายใจเข้าออกปกติ โดยอาจนำผ้าเช็ดตัว หรือผ้าสะอาดผืนใหญ่ มาคลุมโปงศีรษะและภาชนะใส่น้ำเดือด หรืออาจพับกระดาษเป็นรูปกรวย หรือ รูปทรงกระบอก ช่วยในการสูดไอน้ำร้อน ก็ได้
4. ถ้าไอน้ำเดือดร้อนมากเกินไปขณะอบ อาจพักชั่วคราว โดยเอาหน้าออกจากภาชนะที่ใส่น้ำเดือด พอรู้สึกดีขึ้น หรือร้อนน้อยลง ค่อยสูดไอน้ำร้อนต่อ ควรสูดไอน้ำร้อนจนกว่าไอน้ำเดือดจะหมด และควรจะสูดไอน้ำร้อน ก่อนการพ่นยาในจมูกเสมอ โดยเฉพะในรายที่มีอาการคัดจมูก เพื่อให้ยาเข้าไปสัมผัสกับเยื่อบุจมูกได้มากขึ้นและ ออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น