วันจันทร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ปวดหูจัง.........ทำไงดี





หูชั้นนอกอักเสบ...ปวดหูจัง ทำไงดี
ที่ที่มา : ผศ. นพ. ปารยะ อาศนะเสน

หูชั้นนอกอักเสบ ( acute otitis externa) เป็นโรคที่พบได้บ่อย ผู้ป่วยมักมีประวัติปวดหู หรือเจ็บหู หลังจากน้ำเข้าหูแล้ว เช็ดหู หรือแคะหู โดยเฉพาะหลังว่ายน้ำ การอักเสบของหูชั้นนอก อาจเป็นการอักเสบโดยทั่วๆไปทั้งหูชั้นนอก หรือเป็นการอักเสบเฉพาะที่บริเวณส่วนนอกของหูชั้นนอก โดยเป็นเพียงรูขุมขนอักเสบ หรือเป็นฝี หรืออาจเป็นรุนแรงจนลุกลามเข้าไปยังหูชั้นกลาง ทำลายเส้นประสาทสมอง, อวัยวะอื่นๆรอบหู หรืออาจลามไปยังสมองได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยสูงอายุที่เป็นโรคเบาหวาน, ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับการฉายรังสีหรือได้รับยาเคมีบำบัด, ผู้ป่วยที่ได้รับยาสเตียรอยด์เป็นระยะเวลานานๆ การอักเสบอาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราก็ได้ ดังนั้นการให้การวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่เริ่มต้นจะทำให้โรคหายเร็ว และป้องกันภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวได้
พยาธิสรีรวิทยา ปกติรูหูส่วนนอกมีลักษณะทางกายวิภาคที่ป้องกันไม่ให้สิ่งแปลกปลอมหรือเชื้อโรคผ่านเข้าไปได้ กระดูกอ่อนหน้าหูทำหน้าที่เสมือนประตูปิดหูไว้ รูหูส่วนนอกไม่ตรง มีส่วนคอดที่แคบ มีขนสั้นและอ่อน มีต่อมไขมัน และต่อมที่ทำหน้าที่สร้างขี้หูให้ออกมาปะปนกับส่วนที่หลุดลอกออกมาจากชั้นผิวของรูหูส่วนนอกเพื่อต่อต้านไม่ให้สิ่งแปลกปลอมหรือเชื้อโรคหลุดเข้าไปได้ และมีสารเคมีที่มีฤทธิ์เป็นกรด ซึ่งช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและเชื้อรา นอกจากนี้ส่วนของไขมันที่เคลือบอยู่บนผิวของรูหูส่วนนอก ยังทำหน้าที่ป้องกันการเปื่อยลอกของเยื่อบุของรูหูส่วนนอกอีกด้วย
มีสาเหตุหลายสาเหตุที่ทำให้การป้องกันอันตรายดังกล่าวนี้เสื่อมหน้าที่ไปคือ
1. บางคนเข้าใจว่า ขี้หูนั้นเป็นสิ่งสกปรก จึงพยายามแคะหรือเขี่ยออก ทำให้สารเคมีที่ปกป้องและไขมันที่ทำหน้าที่ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนังของรูหูเสียหน้าที่ไป
2. จากการว่ายน้ำ ดำน้ำ หรือล้างหูด้วยสบู่บ่อยๆ ทำให้ขี้หูถูกละลายออกไปและทำให้เกิดภาวะเป็นด่างในรูหูส่วนนอก ทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดี
3. บางคนมีรูหูที่แคบ แต่มีขี้หูมาก เมื่อเวลาที่น้ำเข้าไปในรูหู ทำให้เกิดอาการหูอื้อ เพราะว่าน้ำออกไม่ได้ ทำให้ต้องแคะหู เช็ดหู ทำให้เกิดการอักเสบของรูหูส่วนนอกได้ และเป็นบ่อยๆ
4. จากความเครียดทางอารมณ์ ทำให้บางคนแคะหู โดยใช้นิ้วมือหรือวัตถุใดๆก็ตามทำให้มีรอยถลอก หรือแผลเกิดขึ้นได้ เชื้อโรคจะเข้าไปตามรอยแผลนั้นเกิดการอักเสบขึ้น
5. ความร้อน และความชื้นในสภาวะอากาศที่ร้อน อาจทำให้ความชุ่มชื้นในรูหูสูงผิดปกติ เชื้อโรคเจริญได้ดี
6. โรคทางระบบอื่นๆ เช่น โรคเลือด โรคขาดวิตามิน โรคของระบบต่อมไร้ท่อและโรคผิวหนังบางชนิด เช่น ผิวหนังอักเสบจากการสัมผัส โรคภูมิแพ้ของผิวหนังเช่น บางรายแพ้ยาหยอดหูที่มียาต้านจุลชีพนีโอมัยซินเป็นส่วนประกอบ แพ้น้ำยาล้างชิ้นส่วนของแว่นตา หรือแพ้เครื่องช่วยฟังชนิดที่ใส่อยู่ในรูหู บางรายแพ้เชื้อแบคทีเรียจากโรคหูน้ำหนวกเรื้อรัง ทำให้มีการระคายเคืองและเกิดการอักเสบของรูหูส่วนนอกได้
อาการ
1.คัน ระคายเคืองในรูหูส่วนนอก
2. ปวดหู
3. หูอื้อ
4. มีของเหลว (หนอง) ไหลออกจากหู
อาการแสดง
1. ผิวหนังของรูหูส่วนนอกบวม แดงเฉพาะที่ อาจเห็นลักษณะหัวฝี หรือบวมทั้งหมด ถ้าเป็นมาก จะมองไม่เห็นรูหูส่วนนอกเลย เพราะเกิดการอุดตัน
2. อาจพบหนองที่มีกลิ่นเหม็นอยู่ภายในรูหูส่วนนอก อาจพบเนื้อเยื่อที่ตายหรืออักเสบ
3. เวลาเคลื่อนไหวใบหู จะมีอาการเจ็บมาก
4. อาจพบต่อมน้ำเหลือง บริเวณหน้าหรือหลังหูโตได้
5. ในรายที่เป็นมาก อาจทำให้ใบหูยื่นไปข้างหน้าได้ บริเวณกระดูกมาสตอยด์มีการบวมแดงและกดเจ็บ หรือมีอัมพาตของเส้นประสาทสมองบางเส้นได้
การรักษา
1. ทำความสะอาดรูหู โดยใช้สำลีพันปลายไม้ หรือพลาสติก เช็ดเบาๆด้วยความนุ่มนวล หรือใช้เครื่องดูดของเหลวดูดหนอง (โดยแพทย์)
2. รับประทานยาต้านจุลชีพ เพื่อรักษาการติดเชื้อในช่องหูชั้นนอก ประมาณ 7-14 วัน (ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง ควรปรึกษาแพทย์)
3. ถ้ารูหูส่วนนอกบวมมาก แพทย์อาจใช้ผ้าก๊อซเล็กๆ ชุบยาสเตียรอยด์ช่วยลดบวม ใส่ไว้ในรูหูชั้นนอกประมาณ 24 ชั่วโมง เมื่อรูหูส่วนนอกยุบลง จึงใช้ยาหยอดหูซึ่งมียาต้านจุลชีพ (ที่แพทย์สั่งให้) หยอดวันละ 3-4 ครั้ง (อ่านวิธีหยอด ในบทความเรื่อง “ ยาหยอดหู ” )
4. ถ้ามีอาการปวดมาก อาจรับประทานยาแก้ปวด เช่น paracetamol ร่วมด้วยได้ ในรายที่เป็นหูชั้นนอกอักเสบชนิดร้ายแรง แพทย์อาจรับผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล และให้ยาต้านจุลชีพทางหลอดเลือด
การป้องกัน
1. ไม่ควรพยายาม แคะ หรือเขี่ย หรือเช็ดขี้หูออก หรือทำความสะอาดหูโดยใช้ไม้พันสำลี นิ้วมือ หรือวัตถุใดๆก็ตาม
2. . ไม่ควรล้างหูด้วยสบู่ หรือน้ำยาฆ่าเชื้อบ่อยๆ
3. ไม่ควรซื้อยาหยอดหูมาใช้เอง เพราะอาจแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาหยอดหูได้
4. ผู้ป่วยที่ต้องเช็ดหู ทำความสะอาดหูทุกครั้งหลังการอาบน้ำ เนื่องจากมีน้ำเข้าไปในช่องหูแล้วเกิดความรู้สึกรำคาญ ควรใช้สำลีหรือวัสดุอุดรูหู (ear plug) (ซึ่งหาซื้อได้ตามร้านกีฬา เป็นที่อุดหูสำหรับการว่ายน้ำหรือดำน้ำ) ทุกครั้งขณะอาบน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้าหู จะได้ไม่ต้องเช็ดหูทุกครั้งหลังการอาบน้ำ
5. เมื่อมีอาการคันหู ไม่ควรปั่นหู โดยใช้ไม้พันสำลี นิ้วมือ หรือวัตถุใดๆก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์

การบำบัดโรคจมูกและไซนัสด้วยวิธีสูดไอนำร้อน



การบำบัดโรคจมูกและไซนัสด้วยวิธีสูดไอน้ำร้อน(Steam Inhalation for Sinonasal Diseases)
หอผู้ป่วยหู คอ จมูก โรงพยาบาลสกลนคร
ที่มา: รศ. นพ. พีรพันธ์ เจริญชาศรีผศ . นพ . ปารยะ อาศนะเสน

การสูดไอน้ำร้อนเป็นวิธีการที่แพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทย หรือการแพทย์ทางเลือก แนะนำให้ผู้ป่วยทำเป็นประจำ เพื่อให้จมูกโล่ง หายใจได้สะดวกขึ้น รักษาอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล อาการปวดตื้อๆ ที่ศีรษะซึ่งเกิดจากการไหลเวียนของอากาศในไซนัสที่ไม่ดีจากเยื่อบุจมูกที่บวมไปอุดกั้นรูเปิดของไซนัสในโพรงจมูก และทำ ให้การพ่นยาชนิดต่างๆเข้าไปในจมูก มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอก
จากนั้นยังทำ ให้ทางเดินหายใจส่วนล่างโล่งขึ้น ช่วยลดอาการของโรคหืดด้วย
การสูดไอน้ำร้อนนั้น อาจจะใช้น้ำเดือดธรรมดา หรืออาจมีการผสมยาหรือน้ำมันหอมระเหย หรือสมุนไพรบางอย่างลงไปด้วย เชื่อว่าเป็นการทำให้ประสิทธิภาพของการรักษาดีขึ้น แพทย์รุ่นเก่าๆ มักจะแนะนำให้หยดทิงเจอร์เบนซอยด์ (Benzyl Benzoate) ลงไปในน้ำร้อนให้ผู้ป่วยโรคจมูกและไซนัสสูดหายใจ โดยให้ผู้ป่วยทำเองที่บ้าน เป็นการรักษาเสริมสำหรับโรคจมูกและไซนัสอักเสบทั้งเฉียบพลันและเรื้อรัง
กลไกการออกฤทธิ์ของการสูดไอน้ำร้อน
จากการศึกษาผลของอุณหภูมิของสิ่งแวดล้อมต่อเยื่อบุจมูกของคน พบว่าถ้าอุณหภูมิภายในโพรงจมูกสูงขึ้นจาก การสูดอากาศที่อุ่นและชื้น จะทำให้โพรงจมูกโล่งขึ้น และอาการของโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ลดลง โดยเฉพาะอาการคัดจมูก และในทางกลับกัน ถ้าหายใจเอาอากาศเย็นเข้าไปจะทำให้คัดจมูกมากขึ้น
ตามทฤษฎีการสูดไอน้ำร้อน จะช่วยเพิ่มของเหลวให้ชั้นผิวของเยื่อบุ จมูก ทำให้ผิวของเยื่อบุจมูกคงตัว ลดการหลั่งของน้ำมูก และความร้อนจะขัดขวางการทำปฏิกิริยาระหว่างสารก่อภูมิแพ้และเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับปฏิกิริยา อักเสบจากภูมิแพ้ มีการศึกษาที่สนับสนุนว่าการสูดไอน้ำร้อนมีประสิทธิภาพในการป้องกันอาการคัดจมูก ช่วยยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัส และกระตุ้นให้มีสารที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัส เพิ่มขึ้น
ปกติเยื่อบุจมูกมีหน้าที่ปรับอากาศที่หายใจเข้าให้มีอุณหภูมิและความชื้นเหมาะสมสำหรับหลอดลมและปอด ดังนั้นถ้าหายใจในสิ่งแวดล้อมที่เย็นจัด เยื่อบุจมูกจะทำหน้าที่ปรับอากาศให้อุ่นและชื้นขึ้น โดยอาศัยกลไกของระบบหลอดเลือดที่อยู่ในเยื่อบุจมูก โดยหลอดเลือดเหล่านี้จะขยายตัว ทำให้มีเลือดมาคั่งอยู่ในเยื่อบุจมูก และนำเอาความร้อนเท่ากับอุณหภูมิของร่างกายและความชื้นมาด้วย ทำให้อากาศที่หายใจเข้าผ่านช่องจมูกได้รับความร้อนและความชื้นทำให้อากาศอุ่นและชื้นขึ้น ผลที่ตามมาคือ หลอดเลือดที่ขยายตัวนี้ จะทำให้เยื่อบุจมูกพองหรือบวมขึ้น ทำให้เกิดอาการคัดจมูกมากขึ้นในบางคน โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคจมูกอยู่แล้ว ในทางกลับกันถ้าให้ผู้ป่วยสูดหายใจเอาไอน้ำร้อนเข้าไป เยื่อบุจมูกจะทำหน้าที่ปรับอากาศเหล่านี้โดยระบบหลอดเลือดในเยื่อบุจมูกจะหดตัวลง ทำให้เยื่อบุจมูกหดตัวยุบบวมลงด้วย ผู้ป่วยจะรู้สึกหายใจโล่งขึ้น นอกจากนี้ไอน้ำที่กลั่นตัวในทางเดินหายใจจะทำให้เยื่อบุจมูก และลำคอชุ่มชื้นขึ้น และน้ำมูกเสมหะที่เหนียวข้นจะถูกขับออกมาง่ายขึ้นด้วย
ดังนั้นการสูดไอน้ำร้อน จึงใช้รักษาอาการคัดจมูกที่เกิดจากเชื้อไวรัส , ไข้หวัด , โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้และชนิดไม่แพ้ โรคไซนัสอักเสบ และผู้ป่วยหลังผ่าตัดไซนัส ส่วนการเติมสมุนไพรในน้ำที่ต้มเดือดเพื่อสูดไอน้ำร้อน เพื่อบำบัดรักษาอาการของโรคจมูกและไซนัสนั้น มักจะเลือกใช้สมุนไพรที่ออกฤทธิ์ในระบบทางเดินหายใจ หรือมีที่ใช้สำหรับรักษาอาการของทางเดินหายใจ
ขั้นตอนของการ สูดไอน้ำร้อน
1. ต้มน้ำประปาในหม้อต้มให้เดือด และเตรียมภาชนะปากกว้าง เช่น ชามหรืออ่างที่ทำด้วยวัสดุทนความร้อน สำหรับใส่น้ำเดือดไว้สูดไอน้ำร้อน
2. เทน้ำเดือดจากหม้อต้ม ใส่ภาชนะที่เตรียมไว้ ในกรณีที่แพทย์ไม่ได้สั่งยาเพื่อให้เติมลงไปในน้ำเดือด สามารถเริ่มสูดไอน้ำร้อน ได้เลย (ดูข้อ 3) ในกรณีที่แพทย์สั่งยาเพื่อให้เติมลงไปในน้ำเดือด ควรเริ่มเติมยาลงไปขนาดน้อยๆ ก่อน เช่น ประมาณครึ่งฝาขวดยา หรือครึ่งช้อนชา ถ้ากลิ่นไม่ฉุนเกินไป หรือผู้ป่วยทนได้ อาจเพิ่มขนาดได้ในครั้งต่อไป หรือจะใช้ในขนาดที่พอใจก็ได้ หลังจากนั้นคนให้ยาผสมเข้ากับน้ำเดือดให้ดี
3. ยื่นหน้าไปอังอยู่เหนือน้ำเดือด ซึ่งอยู่ในภาชนะที่เตรียมไว้ สูดหายใจเข้าออกปกติ โดยอาจนำผ้าเช็ดตัว หรือผ้าสะอาดผืนใหญ่ มาคลุมโปงศีรษะและภาชนะใส่น้ำเดือด หรืออาจพับกระดาษเป็นรูปกรวย หรือ รูปทรงกระบอก ช่วยในการสูดไอน้ำร้อน ก็ได้
4. ถ้าไอน้ำเดือดร้อนมากเกินไปขณะอบ อาจพักชั่วคราว โดยเอาหน้าออกจากภาชนะที่ใส่น้ำเดือด พอรู้สึกดีขึ้น หรือร้อนน้อยลง ค่อยสูดไอน้ำร้อนต่อ ควรสูดไอน้ำร้อนจนกว่าไอน้ำเดือดจะหมด และควรจะสูดไอน้ำร้อน ก่อนการพ่นยาในจมูกเสมอ โดยเฉพะในรายที่มีอาการคัดจมูก เพื่อให้ยาเข้าไปสัมผัสกับเยื่อบุจมูกได้มากขึ้นและ ออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น

การล้างจมูก



การล้างจมูก

เป็นวิธีการที่ช่วยลดอาการ ในผู้ป่วยภูมิแพ้,ริดสีดวงจมูก,และไซนัสอักเสบ
เป็นการชะล้างสิ่งสกปรกที่กระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ภายในโพรงจมูกช่วยให้ลดความจำเป็นในการให้ยาลงได้
อุปกรณ์
1. กระบอกฉีดยาหรือลูกสูบยาแดง
2. น้ำเกลือ
วิธีการ
1. ก้มหน้าและอ้าปาก
2. ใช้กระบอกฉีดยาดูดน้ำเกลือให้เต็ม
3. ฉีดเข้ารูจมูกทีละข้าง ( ขณะฉีดให้กลั้นหายใจ เพื่อป้องกันการสำลักน้ำ )
น้ำเกลือจะไหลออกทางรูจมูกอีกข้างและทางปาก
4. ฉีดล้างไปเรื่อยๆ จนกว่าน้ำที่ไหลออกมาจะใสสะอาดไม่มีน้ำมูกปน

ข้อแนะนำ
สำหรับผู้ที่มีอาการมาก ควรล้างจมูกทั้ง 2 เวลา คือ หลังตื่นนอนตอนเช้า
และตอนเย็นก่อนเข้านอน

แนะนำ PCT โสต ศอ นาสิก



PCT โสต ศอ นาสิก
วิสัยทัศน์
โรงพยาบาลสกลนครเป็นโรงพยาบาลคุณภาพ ได้มาตรฐาน เป็นเลิศในเขต 11โดยระบบบริหารจัดการที่ มี ประสิทธิภาพใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดีบุคลากรมีความสุข
เจตจำนง / ความมุ่งหมาย (Purpose)
ให้บริการผู้ป่วยโรคทางหู คอ จมูกตามมาตรฐานวิชาชีพและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อผู้รับบริการพึง พอใจ
ขอบเขต ( Scope )
- ให้บริการรักษาพยาบาล ผ่าตัดโรคทางหู คอ จมูกและผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บที่ใบหน้า(ที่ไม่มีปัญหาด้านได้รับบาดเจ็บที่สมองร่วมด้วย) ทุกเพศ ทุกวัย(ยกเว้นทารกแรกคลอด- 1 เดือน) ผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในตลอด 24ชั่วโมง
- ให้การดูแลผู้ป่วยที่มีปัญหาในการฟัง ด้วยการทดสอบการได้ยิน แก้ปัญหาด้านการฟังด้วยพยาบาลเฉพาะทางและ ให้บริการเครื่องช่วยฟัง
ความเสี่ยงเฉพาะโรค ที่ควรรู้ในโรคประกัน2009
ผู้ป่วยผ่าตัดทอนซิล

ความเสี่ยง

1.ภาวะเลือดออกมากผิดปกติและได้รับการแก้ไขที่ไม่เหมาะสม ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อน
2.กลับมารักษาซ้ำภายใน 28 วัน
3. ติดเชื้อแผลผ่าตัด
แนวทางป้องกัน /หลีกเลี่ยง
1.ดูแลอมน้ำแข็ง ประคบเย็นที่คอ
2.record:V/S ,
3.IVF care
4.ตรวจช่องคอ ประเมินภาวะ bleed รายงานแพทย์ set or stop bleed
5.จัดหา Cold pack ที่เหมาะสม กับผู้ป่วย
6.จัดท่านอนศีรษะสูง ตะแคง,clear air way ป้องกันภาวะ upper air way obstruction
7.แนะนำหลีกเลี่ยง ไอจาม ขากเสมหะแรงๆ หากเลี่ยงไมได้ให้อ้าปากขณะไอ จาม
8.ให้ดื่มจากแก้ว แทนการใช้หลอดดูด
9.ปรับปรุงการบันทึก Nurses note เพื่อบันทึก ภาวะเลือดออก
ผู้ป่วยเจาะคอคาท่อหลอดลม
ความเสี่ยง
1. ท่อหลอดลมคอเลื่อนหลุด
2. Bleeding
3. ท่ออุดตัน
4. มีลมในปอด(Pneumothorax) และมีลมใต้ผิวหนัง (Subcutaneous emphysema)
5. เกิดรูทะลุระหว่างหลอดลมกับหลอดอาหาร (tracheosophageal fistula)
6. การติดเชื้อโรคของแผลเจาะคอ เนื่องจากการคั่งของเสมหะบริเวณแผลหรือติดเชื้อโรคขณะทำแผล
7. เกิดการสำลัก
8. ปอดแฟบ (atelectasis)
9. หลอดลมตีบ (Tracheal stenosis)
แนวทางป้องกัน /หลีกเลี่ยง

1. ผูกสายท่อหลอดลมคอเป็นเงื่อนตาย ความยาวให้ใช้นิ้วสอดระหว่างสายกับคอของผู้ป่วย ( สองนิ้วสอด)ตรวจสอบตำแหน่งสายทุกเวรโดยพยาบาลวิชาชีพ
2. Observe Bleeding รอบแผลผ่าตัดภายใน 24 ชั่วโมงแรก ถ้าเลือดออกมาก pack ด้วย vasseline
3. Observeลมใต้ผิวหนัง (Subcutaneous emphysema)
4. Sterile dressing
5. แนะนำการไอขับเสมหะอย่างมีประสิทธิภาพ

วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

มาดูแลผู้ป่วยเจาะคอกันเถอะค่ะ



มาดูแลผู้ป่วยเจาะคอกันค่ะ
การเจาะหลอดลมคอหรือการเจาะคอ เป็นการผ่าตัดเข้าหลอดลมคอ โดยผ่านผิวหนังและกล้ามเนื้อคอ เพื่อใส่ท่อหลอดลมคอช่วยในการหายใจหรือดูดเสมหะ

อุปกรณ์ทำความสะอาดท่อเจาะคอ
1.หม้อต้มท่อ
2.ชามหรือถ้วยสำหรับล้างท่อ
3.น้ำยาไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 1:3
4.ผงซักฟอก, น้ำยาล้างจาน
5.ไม้พันสำลีหรือแปรงล้างหรือผ้าก็อซมัดเป็นปม 3-4 ปม
6.ถุงมือสะอาด

ขั้นตอนการทำความสะอาดท่อเจาะคอ
1. ล้างมือให้สะอาดหมุนปุ่มล็อคขึ้นด้านบนจับปีกท่อชั้นในแล้วดึงท่อออกตามแนวโค้งของท่อ
2. นำท่อแช่ใส่ชามหรือถ้วยสำหรับล้างท่อ เทน้ำยาไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์พอประมาณจนท่วมท่อ แช่นานประมาณ5 นาที
3.ล้างท่อให้สะอาดด้วยไม้พันสำลีหรือแปรงล้างหรือผ้าก็อซกับน้ำผสมผงซักฟอก/น้ำยาล้างจาน
4. นำท่อไปต้มในน้ำ นาน 20 นาที เทน้ำทิ้ง วางท่อให้เย็น ในหม้อ ปิดฝาหม้อไว้ ป้องกันฝุ่นผงตกใส่แล้วนำกลับไปสวมใส่ท่อเจาะคอตามแนวโค้งเหมือนเดิมพร้อมหมุนปุ่มล็อกกลับ

การล้างแผลเจาะคอ
อุปกรณ์
1.ถ้วยที่ผ่านการต้มฆ่าเชื้อแล้ว
2.เหล็กคีบสำหรับล้างแผล
3.น้ำเกลือล้างแผล
4.กอซปิดแผล
5.ปลาสเตอร์
ขั้นตอน
1.ดูดเสมหะ หรือให้ผู้ป่วยไอขับเสมหะ
2.แกะปลาสเตอร์และกอซปิดแผลออก
3.ล้างมือให้สะอาด
4. นำถ้วยล้างแผล,เทน้ำเกลือลงในถ้วย, ใส่สำลี4-5 ก้อนลงในถ้วย
5. ใช้เหล็กคีบจับหยิบสำลี บิดสำลีให้หมาดด้วยคีม เช็ดทำความสะอาดตามขั้นตอนดังนี้
สำลีก้อนที่ 1 เช็ดรอบๆ ท่อ (เช็ดออกด้านนอก)
สำลีก้อนที่ 2 เช็ดตัวท่อชั้นนอก
สำลีก้อนที่ 3 เช็ดใต้แป้นรอบๆ ท่อเจาะคอ (แผลเจาะคอ)
6. ใช้ผ้ากอซพับเป็นรูปตัว I สอดใต้แป้นท่อเจาะคอ ปิดปลาสเตอร์ที่กอซ ป้องกันการเลื่อนหลุด
7. นำท่อชั้นในที่เย็นแล้ว นำกลับมาใส่ที่เดิม

ข้อแนะนำเพิ่มเติมหากผู้ป่วยมีเสมหะมาก เหนียว ขับออกยาก (ผู้ป่วยไม่มีโรคประจำที่มีผลต่อการได้รับน้ำ) ดื่มน้ำมากๆ, เทน้ำใส่กาละมังให้ผู้ป่วยสูดน้ำร้อน จะช่วยให้เสมหะอ่อนตัว และให้ผู้ป่วยไอขับเสมหะออกได้
ไม่ปิดปลาสเตอร์บนผิวหนัง ปิดเฉพาะตัวกอซ ลดการระคายเคืองต่อผิวหนังผู้ป่วย
การจับท่อเหล็กตัวใน ห้ามจับบริเวณก้านท่อเหล็ก เพื่อป้องกันนำเชื้อโรคเข้าสู่ผู้ป่วย

วิธีทำความสะอาดแผลรอบท่อหลอดลมคอ ถ้าผู้ป่วยทำเองได้ให้ใช้กระจกช่วยส่องดู พร้อมทั้งสังเกตแผลโดยรอบด้วย ถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น บวม แดง ปวดเจ็บ มีหนองไหล หรือมีอาการอื่น ๆ รีบกลับไปพบแพทย์ทันที
การทำความสะอาดท่อหลอดลมคอ ควรทำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง หรือบ่อยเท่าที่จำเป็น

ขณะที่ใส่ท่อหลอดลมคออยู่ ไม่ควรอาบน้ำฝักบัว หรือลงว่ายน้ำในลำคลอง กันไม่ให้น้ำเข้าหลอดลมคอหรือสิ่งสกปรกอื่นลงไปด้วย